ต่อเติมบ้านยังไงไม่ให้พัง! ไอเดีย เทคนิค เมื่อต้องต่อเติมบ้าน

16 มิถุนายน 2022

ต่อเติมบ้านยังไงไม่ให้พัง! ไอเดีย เทคนิค เมื่อต้องต่อเติมบ้าน

การต่อเติมบ้าน ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการรีโนเวทหรือปรับปรุงบ้าน ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้สะดวกสบายและลงตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมพื้นที่โล่งที่มีเพียงแค่พื้นกับหลังคา อย่างลานจอดรถ ลานซักล้าง หรือจะต่อเติมเป็นห้องโดยทำผนังโปร่งหรือทึบผนังตามความเหมาะสมในการใช้งาน ทั้งนี้ก่อนจะต่อเติมทุกครั้งเราควรพิจารณาปัจจัยหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “โครงสร้าง” ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการรับน้ำหนักและอัตราการทรุดตัวของส่วนต่อเติม

ต่อเติมบ้านต้องแยกโครงสร้างเสมอ

การต่อเติมทุกครั้ง ควรแยกโครงสร้างออกจากโครงสร้างบ้านเดิมโดยเด็ดขาด เนื่องจากโครงสร้างของบ้านเดิมจะถูกออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักของตัวบ้านนั้นโดยเฉพาะเท่านั้น ส่วนต่อเติมจึงควรออกแบบโครงสร้างให้รับน้ำหนักเฉพาะสำหรับส่วนต่อเติมด้วยเช่นกัน หากเชื่อมส่วนต่อเติมเข้ากับโครงสร้างบ้าน หรือเชื่อมติดกันเป็นบางส่วน จะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้างบ้านเดิม ยิ่งถ้าส่วนต่อเติมทรุดตัวต่างกับบ้าน จะดึงรั้งทำให้โครงสร้างบ้านเดิมเสียหายได้ง่าย (แม้จะเป็นการต่อเติมบ้านขึ้นมาอีกหลังซึ่งลงโครงสร้างเหมือนกับบ้านเดิม ก็ควรแยกโครงสร้างต่างหาก จะให้ดี แนะนำให้สร้างแยกกันและทำทางเชื่อมระหว่างตัวบ้านจะดีกว่า เพื่อลดปัญหารอยต่อระหว่างส่วนต่อเติมที่อาจทำให้เกิดการรั่วซึมได้)

1.สิ่งที่เจ้าของบ้านต้องรู้ก่อนเลยก็คือเรื่อง กฎหมายที่เกี่ยวข้องและการตกลงกับนิติบุคคล รวมถึงเพื่อนบ้าน

    • อาคารชั้นเดียว จนถึงอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร เช่น ต่อเติมบ้าน พื้นที่หลังบ้าน เป็นห้องครัว ห้องซักล้าง ระเบียงชั้น 2 ระยะห่างผนัง ถ้ามีช่องเปิด (ช่องเปิด หมายถึง หน้าต่าง ช่องลม ช่องที่สามารถส่องผ่านได้ ไม่เว้นแม้กระทั่ง ช่องแสง บล็อกแก้ว)ต้องเว้นระยะห่างจากแนวเขตที่ดินข้างเคียง ไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร ถ้าเป็นผนังทึบ (ไม่มีผนังช่องเปิด)ต้องเว้นระยะห่างจากแนวเขตที่ดินข้างเคียง ไม่น้อยกว่า 0.50 เมตร*ยกเว้น การได้รับความยินยอมจากเจ้าของพื้นที่ข้างเคียง เป็นลายลักษณ์อักษร (มีหนังสือยินยอม) สามารถสร้างชิดเขตแนวที่ดินได้ระยะห่างชายคา/กันสาด(พื้นที่ที่คนขึ้นไปใช้งานหลักไม่ได้)เช่นเดียวกับผนังทึบ ชายคาต้องห่างจากแนวเขตไม่น้อยกว่า 0.5 ม.
    • บ้าน บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม ที่มีการเก็บค่าส่วนกลางหรือนิติบุคคลดูแลพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่สารธารณะในบริเวณหมู่บ้าน โครงการ ชุมชนของตัวเอง นอกจากต้องศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจแล้ว การขออนุญาตหรือได้รับความเห็นชอบจากเพื่อนบ้านที่มีส่วนของตัวบ้านแชร์ร่วมกันก็เป็นอีกสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ต้องมีการพูดคุยเจรจาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ยิ่งดีมากๆและจะช่วยให้ในอนาคตไม่มีปัญหากับเพื่อนบ้านกหลังต่อเติมบ้านเสร็จเรียบร้อยอีกด้วย

2.รูปแบบการต่อเติม งานออกแบบ งานโครงสร้าง วัสดุที่ใช้ และงบประมาณ

  • ต่อเติมหน้าบ้าน เพื่อทำหลังคากันสาด, หลังคาที่จอดรถ
  • ต่อเติมข้างบ้าน เพื่อทำเป็นห้องอเนกประสงค์
  • ต่อเติมหลังบ้าน เพื่อทำเป็นครัวไทย
  • ต่อเติม ปรับปรุงพื้นที่ภายในบ้าน เช่น กั้นห้องเพิ่ม, ทุบผนังห้องออก

การต่อเติมพื้นที่ด้านนอกบ้านส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่เราควรคำนึงถึงก็คือโครงสร้างพื้นและเสาเข็ม โดยปกติแล้วบ้านจัดสรรมักจะทำการเทพื้นบริเวณที่จอดรถและลานซักล้างด้านหลังบ้านมาให้ ส่วนใหญ่เป็นการเทคอนกรีตเสริมเหล็กแบบบนดิน (Slab On Ground) หรือ บนคาน (Slab on Beam) ที่ลงเสาเข็มมาให้ด้วย ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีข้อดี–ข้อเสียแตกต่างกันไป

ก่อนที่จะตัดสินใจว่าเราจะใช้พื้นที่ในการ ต่อเติมข้างบ้าน เป็นห้องอะไรก็ตาม อย่าลืมทำการวัดขนาดพื้นที่กันก่อน เพื่อที่จะทำให้เราได้จำกัดตัวเลือกให้แคบลงว่าพื้นที่ตรงนี้ควรที่จะทำเป็นห้อง หรือทำเป็นมุมอะไร ความสะดวกของพื้นที่ใช้สอยมีอะไรบ้าง รวมไปถึงสามารถวางอะไรในพื้นที่ตรงนี้ได้บ้าง

โครงสร้างที่เลือกใช้ก็สำคัญ

2.1โครงสร้างเหล็ก

ส่วนใหญ่แล้วพื้นที่ต่อเติมหลังคาอย่างบริเวณลานจอดรถ หรือครัวด้านหลังบ้าน มักจะใช้โครงสร้างที่สามารถทำได้รวดเร็วและไม่ยุ่งยากนั่นก็คือโครงสร้างเหล็กนั่นเอง ซึ่งรูปแบบของเหล็กที่นิยมใช้ก็มีหลากหลายไม่ว่าจะเป็น เหล็กกล่อง, เหล็กตัว C สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง โดยเราสามารถสังเกตได้จากมาตรฐานต่างๆเช่น มอก. , ASTM, BSI, JIS เป็นต้นค่ะ ความยาวเหล็กทั่วไปจะอยู่ที่ 6 เมตร เพื่อให้สะดวกในการขนส่ง แต่การสั่งเหล็กนั้นควรวัดจากหน้างานเพื่อให้พอดี และเหลือเศษน้อยที่สุดจะได้ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ

การติดตั้งโครงหลังคาเหล็กส่วนใหญ่แล้วจะทำที่หน้างาน อาศัยความชำนาญของช่างพอสมควร ทำให้งานเชื่อมออกมาแข็งแรงได้ โดยส่วนใหญ่จะใช้การเชื่อมแบบเชื่อมแต้ม เพื่อยึดเหล็กแต่ละท่อนให้ติดกันคร่าวๆก่อน จากนั้นจึงเชื่อมเต็มค่ะ เรียบร้อยแล้วจะมีการทาสีกันสนิมโดยต้องทาให้ทั่วทุกด้านของเหล็ก ถ้าเป็นเหล็กกล่องก็ควรมีการชุบสีกันสนิมเพื่อให้ทั่วถึงทั้งด้านในและด้านนอก โครงสร้างเหล็กจะสามารถออกแบบให้เหมาะกับรูปทรงหลังคาได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นทรงหลายเหลี่ยม หรือ ทรงโค้งก็สามารถดัดได้ รวมถึงมีระยะยื่นออกมาได้ไกล (ชายคา) ตามความสามารถของเหล็ก

2.2โครงสร้างสำเร็จรูป

โครงสร้างสำเร็จรูปทำมาจากเหล็กที่มีกำลังดึงสูง มักมีการเคลือบผิวกันสนิมด้วยกัลวาไนซ์ ส่วนใหญ่จึงนิยมเรียกว่า โครงหลังคากัลวาไนซ์ และมีการเคลือบผิวเพิ่มเติมด้วยอลูมิเนียมซิงค์ หรือ แมกนีเซียมซิงค์ ซึ่งทำให้มีคุณสมบัติสูง เช่น การทนต่อกรดเกลือ  เป็นสาเหตุให้ราคาแพงกว่านั้นเอง เหมาะกับงานที่มีความต้องการพิเศษ เช่น บ้านริมทะเล เป็นต้น

การเตรียมโครงสร้างสำเร็จรูปจะเกิดขึ้นที่โรงงาน โดยเจ้าของบ้านหรือสถาปนิกจะเป็นคนสั่งแบบ ให้เจ้าหน้าที่มาวัดขนาดของพื้นที่ก่อสร้างที่หน้างาน เพื่อนำไปคำนวณโครงสร้างแต่ละท่อนด้วยวิศวกร เมื่อผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงนำไปประกอบที่หน้างานโดยช่างที่มีความชำนาญค่ะ และมักจะใช้ตะปูเกลียว (สกรู) เป็นตัวยึดตามแบบ จะไม่มีการเชื่อมและงานทาสีกันสนิม จึงทำได้รวดเร็วมากกว่าโครงสร้างเหล็ก

โครงสร้างสำเร็จรูปจะมีลักษณะเป็นโครงถัก ประกอบจากเหล็กกัลวาไนซ์หลายท่อน ทำให้มีข้อจำกัดด้านรูปแบบของหลังคา และมีระยะยื่น (ชายคา) ออกมาได้ไม่มากนัก และต้องใช้บริการจากผู้ผลิตแต่ละราย ไม่สามารถทำเองได้ค่ะ โดยทั่วไปมักเป็นหลักคาทรงจั่ว , ปั้นหยา รูปทรงทั่วไปเป็นต้น

2.3ผนังโครงเบา (Smart Board)

ผนังโครงเบาคือผนังที่มีโครงคร่าวติดกับแผ่นผนัง โครงคร่าวมีทั้งเป็นไม้แต่ที่นิยมใช้กันนั้นจะเป็นโครงคร่าวโลหะ (กัลวาไนซ์ , เหล็กรูปพรรณ) วัสดุแผ่นหนังเองก็มีให้เลือกใช้มากมายเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ , ไม้อัดซีเมนต์, แผ่นยิปซั่ม หรือแผ่นไม้อัด ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป

ผนังโครงสร้างเบานั้นสามารถซ่อมแซม รื้อถอนได้ง่ายเนื่องจากมีน้ำหนักที่เบา แผ่นที่รื้อออกมาแล้วนำกลับไปใช้ใหม่ได้ และใช้เวลาในการติดตั้งน้อยค่ะ แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถใช้กับพื้นที่ที่มีน้ำขังได้ จึงไม่ควรใช้กับภายนอกด้วย ผนังโครงเบาเหมาะกับคนที่ต้องการต่อเติมกั้นห้องภายในบ้าน โดยไม่ต้องเลอะเทอะกับการผสมปูนก่ออิฐ

2.4 ผนังกระจก (Curtain wall)

เป็นผนังที่ยึดกับโครงสร้างของอาคาร โดยจะมีกรอบโครงเหล็กหรืออลูมิเนียม มีทั้งแนวตั้งและแนวนอน โดยจะใช้กระจกที่มีความหนาอย่างน้อย 6 มิลลิเมตร ควรใช้เป็นกระจกเทมเปอร์ที่แตกเป็นเม็ดข้าวโพดไม่แหลมคม ,กระจกเทมเปอร์ลามิเนตที่มีฟิล์มช่วยยึดกระจกไม่ให้ร่วงหล่นลงมา หรือกระจกฮีทสเตรงเท่น (Heat Strengthened glass หรือ H/S) ที่มีความแข็งแรงมากกว่ากระจกธรรมดา 2 เท่า ทั้งนี้ควรได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้วยค่ะ เนื่องจากเป็นวัสดุที่เปราะบางและอาจเกิดอันตรายได้

ผนังกระจกจะมีความสามารถการกันเสียงน้อยกว่าผนังก่อ แผ่ความร้อนได้มากกว่า เนื่องจากมีคุณสมบัติโปร่งใส แต่การกั้นห้องด้วยผนังกระจกทำให้ห้องดูโปร่งโล่ง และมีแสงผ่านได้มาก เหมาะกับห้องที่ต้องการกั้นต่อเติมโดยไม่ให้ความรู้สึกคับแคบ ไม่เน้นเรื่องความเป็นส่วนตัว, เสียงรบกวนมากนัก

สัญญาว่าจ้าง

สัญญาควรระบุว่าผู้รับจ้างเป็นใคร ควรมีเอกสารของบริษัทหรือสำเนาบัตรประชาชนประกอบ เพื่อระบุตัวตนให้ชัดเจน

ผู้ว่าจ้างมีจุดประสงค์อย่างไร หมายความว่าให้ทำอะไร ที่ไหน วงเงินเท่าไร รวมถึงระยะเวลาการก่อสร้างนานเท่าไร ซึ่งควรระบุเป็นวันที่ชัดเจน เป็นต้น

แบบก่อสร้าง

ควรมีแบบให้ครบครอบคลุมทุกระบบ คือ แบบสถาปัตยกรรม แบบโครงสร้าง แบบงานระบบไฟฟ้า แบบงานระบบสุขาภิบาล และแบบงานระบบปรับอากาศ รวมถึง งานเฟอร์นิเจอร์หรือ ภูมิทัศน์ด้วยค่ะ

ใบราคา (Bill Of Quantity) :

เอกสารประกอบเกี่ยวกับราคาวัสดุและค่าก่อสร้าง รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกิดขึ้นภายในงานก่อสร้างทั้งหมด ควรมี 2 ชุดให้ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างอย่างละ 1 ชุดค่ะ

กำหนดการจ่ายเงินเป็นงวดๆ และกำหนดค่าปรับถ้างานล่าช้ากว่ากำหนด โดยทั่วไปแล้วมักคิดหน่วยเป็นวันค่ะ รวมถึงควรระบุงานเพิ่ม-ลด และค่าใช้จ่ายต่างๆที่ผู้รับจ้า (ผู้รับเหมา) ต้องรับผิดชอบ

3.ไอเดียการต่อเติมบ้าน

3.1 ต่อเติมห้องข้างบ้าน ให้เป็นห้องครัว

สำหรับใครที่อยู่ในโครงการบ้านจัดสรรแน่นอนว่าการ ต่อเติมห้องข้างบ้าน ออกมาให้เป็นห้องครัวก็จะช่วยให้เรามีพื้นที่ภายในบ้านเหลือเยอะขึ้นไปอีก เราสามารถจัดห้องครัวด้านในบ้านโดยการวางแพนทรี หรือทำเคาน์เตอร์เป็นครัวแบบฝรั่ง และยังสามารถวางโต๊ะรับประทานอาหารได้อีก ส่วนที่เราได้ทำการต่อเติมข้างบ้านออกมาตรงนี้เราก็ทำเป็นครัวไทยแบบจัดเต็มกันซะเลยคราวนี้ก็สามารถทำอาหารเมนูหนักจัดจ้านได้แบบไม่ต้องกังวลเรื่องควัน กลิ่น เข้าไปรบกวนภายในบ้าน รวมถึงยังทำให้เราได้มีพื้นที่สำหรับทำอาหารได้แบบคล่องตัวอีกด้วย

3.2 ต่อเติมข้างบ้าน ให้เป็นสวน

สำหรับใครที่อยากมีมุมพักผ่อน พักสายตา ก็สามารถทำ แบบต่อเติมข้างบ้าน ให้เป็นสวนสวย ๆ เอาไว้สำหรับนั่งมองเพลิน ๆ เดินเล่นชมสวนกันแบบเพลิน ๆ ปูหญ้าสักหน่อย แล้วจะทำเป็นสวนดอกไม้ จะต้นไม้ขนาดเล็ก หรือจะปลูกเป็นพืชผักสวนครัวก็ยังได้ ไอเดียการทำพื้นที่ข้างบ้านให้เป็นสวนแบบนี้ก็จะทำให้เราไม่ต้องไปดูแลทำความสะอาดพื้นที่ตรงนี้ให้มากมาย เพียงแค่รดน้ำให้ปุ๋ยกับน้อง ๆ ที่เราปลูกก็เพียงพอแล้ว

3.3 ต่อเติมห้องข้างบ้านให้เป็นห้องเก็บของ

แบบต่อเติมข้างบ้าน ที่ทำเป็นห้องเก็บของก็ดีนะ คราวนี้เราก็สามารถเก็บของใช้ต่าง ๆ รวมไว้ในห้องนี้ จะใช้ทีก็มาหยิบจับ หากันได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องไปวางเรียงรายเพื่อกินพื้นที่ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดูดฝุ่น ไม้กวาด ไม้ถูพื้น หรือแม้แต่กล่องเก็บของ กล่องเครื่องมือช่าง อุปกรณ์ทำสวนต่าง ๆ ก็ตาม ถือว่าเป็นการต่อเติมที่คุ้มค่าอยู่ไม่น้อยเลยสำหรับไอเดียนี้

3.4 ต่อเติมห้องข้างบ้าน ให้เป็นห้องนอน

ถ้าบ้านไหนที่พื้นที่เหลือเยอะ จะต่อเติมพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นห้องนอนเพิ่มมาอีกหนึ่งห้องก็ดีทีเดียว สามารถทำได้ทั้งห้องนอนสำหรับรับรองแขก ญาติ เพื่อน ๆ หรือจะเป็นห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุภายในบ้านไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็สะดวกสบายไม่น้อย เพื่อป้องกันการขึ้นลงบันไดปลอดภัยต่อการอยู่อาศัยอีกด้วย

3.5 ต่อเติมข้างบ้านให้เป็นมุมปาร์ตี้

ครอบครัวไหนที่เป็นสายปาร์ตี้ วันหยุดทั้งทีต้องมีแขกมาสังสรรค์กันที่บ้าน ทำบาร์บีคิว ปิ้งย่าง ชาบู หรือจะเป็นสายดื่มกันสนุก ๆ ก็ ต่อเติมบ้านด้านข้าง ให้เป็นมุมปาร์ตี้ไปซะเลย จัดแต่งให้สวยงาม น่านั่ง ดื่มด่ำบรรยากาศสุดชิลแบบที่ไม่ต้องออกไปข้างนอกบ้านให้ไกลก็สนุกได้ ขอแค่มีโต๊ะเก้าอี้ เครื่องเสียงสำหรับเปิดดนตรีอีกเล็กน้อย นอกนั้นใครอยากจะปูกระเบื้อง หรือทำเป็นห้องคาราโอเกะแบบจริงจังก็ยังได้ เพียงแค่ทำห้องที่สามารถเก็บเสียงได้มิดชิด ไม่รบกวนข้างบ้านให้เกิดปัญหากันภายหลัง

3.6 ต่อเติมบ้านด้านข้าง ให้เป็นมุมซักล้าง

เชื่อว่าคุณแม่บ้านถูกใจสิ่งนี้ มา ต่อเติมข้างบ้าน ให้เป็นพื้นที่ซัก ล้าง ตากกันเถอะ เป็นอะไรที่ตอบโจทย์มาก ๆ สำหรับพื้นที่ตรงนี้ เพราะสามารถวางได้ทั้งเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เคาน์เตอร์อ่างล้างจาน ราวแขวนผ้า/ตากผ้า สุดแสนจะสะดวกสบาย ไม่ต้องวางเครื่องซักผ้า หรืออ่างล้างจานไว้ในบ้านให้กินพื้นที่เอามาไว้มุมนี้คือดีสุดแล้ว

3.7 ต่อเติมห้องข้างบ้านให้เป็นห้องสัตว์เลี้ยง

ทาสน้องหมา ทาสน้องแมว คงจะฟินกับการเลือก แบบต่อเติมข้างบ้าน ให้เป็นห้องสัตว์เลี้ยงของเราไม่น้อย คราวนี้ทั้งคน ทั้งสัตว์เลี้ยงก็จะอยู่กันเป็นสัดส่วนมากขึ้น ตัดปัญหาเรื่องขนสัตว์ รวมถึงเรื่องกลิ่นของสัตว์เลี้ยงไปได้อีก ทีนี้เราก็จะมีห้องให้เค้าได้พักผ่อนกันอย่างสบาย สามารถจัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับเจ้านายของเราได้อย่างเต็มที่

3.8 ต่อเติมข้างบ้านให้เป็นเรือนกระจก

ใครที่เป็นสายปลูกต้นไม้แบบจริงจังอย่างแคคตัส ยูโฟเบีย ไม้อวบน้ำ หรือไม้พรรณอื่น ๆ ที่เหมาะกับการเพาะปลูกในเรือนกระจก จะปลูกเป็นงานอดิเรก หรือปลูกไว้สำหรับขายก็ได้หมด แค่เปลี่ยนการ ต่อเติมบ้านด้านข้าง ให้มาเป็นเรือนกระจกเล็ก ๆ น่ารักสไตล์สวนอังกฤษจิบน้ำชา วางรูปปั้นกามเทพ หรือสัตว์ต่าง ๆ ตกแต่งไปด้วยก็คงจะได้ฟิลไม่น้อย นอกจากจะเพลิดเพลินไปกับการปลูกพรรณไม้ที่เราชอบในเรือนกระจกแล้ว เผลอ ๆ ยังเป็นมุมถ่ายรูปที่แสนเก๋สำหรับบ้านของเราเลยก็ได้นะ

3.9 ต่อเติมบ้านด้านข้างให้เป็นระเบียง

เราสามารถทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นชานบ้าน หรือระเบียงสวย ๆ เอาไว้ออกไปนั่งเล่น ยืนเล่นรับลมชมวิวก็ได้เช่นกัน จะทำการเติมกันสาด ขึงผ้าใบ ปูพื้น เสริมโต๊ะเก้าอี้สำหรับจิบกาแฟยามเช้าก็ดี ยิ่งถ้ามีน้ำพุ หรือน้ำตกเล็ก ๆ มาวางเสริม ก็จะทำให้มุมนี้ดูสดชื่นและมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น

3.10 ต่อเติมห้องข้างบ้านให้เป็นห้องทำงาน

ต่อเติมบ้านด้านข้าง ให้เป็นห้องทำงานแบบติดแอร์ก็จะยิ่งทำให้บ้านดูกว้างเพราะมีห้องมาเพิ่มขึ้น อีกทั้งเรายังมีพื้นที่สำหรับใช้สอยได้มากขึ้นไปอีก เราสามารถวางโต๊ะทำงาน ชั้นวางหนังสือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียน หรือการทำงานของเราได้ตามต้องการ และยังได้ความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเพราะไม่ต้องไปใช้พื้นที่ในห้องนอน หรือห้องอเนกประสงค์ในบ้านที่เป็นพื้นที่ส่วนรวม คราวนี้ทำงานได้พริ้วไหวเหมือนสายน้ำแน่นอน

3.11 ที่จอดรถ

ในส่วนใหญ่แล้วบ้านทุกหลังมักมีรถยนต์ส่วนตัวเพื่อใช้ในการเดินทางในชีวิตประจำวัน โครงการจัดสรรต่างๆจึงมักมีที่สำหรับจอดรถมาให้ ตั้งแต่ 1 คันขึ้นไป โดยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่บริเวณด้านหน้าบ้านและไม่ได้มีหลังคาคลุมตลอดทั้งคัน ทำให้ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ต้องการต่อเติมหลังคาที่ลานจอดรถเองค่ะ

พื้น : พื้นลานจอดรถควรใช้เป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กวางบนคาน หรือลงเสาเข็ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเดิมของบ้านด้วยนะคะ ถ้าไม่มีเสาเข็มมาให้อาจจะต้องระวังเรื่องการทรุดตัวในอนาคต หากต้องการเทพื้นเพิ่มเติมต่อจากโครงสร้างเดิม ควรเว้นระยะรอยต่อประมาณ  1 – 5 เซนติเมตร เพื่อลดปัญหาการแตกร้าวเนื่องจากการทรุดตัว

หลังคา : โครงสร้างหลังคาที่จอดรถสามารถทำได้ทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเหล็ก, โครงสร้างสำเร็จรูป ขึ้นอยู่กับความชอบของเจ้าของบ้าน แต่การต่อเติมหลังคาควรคำนึงถึงโครงสร้างที่พื้นด้วยค่ะ ถ้าพื้นไม่ได้ลงเสาเข็มแนะนำให้ทำเสาเข็มแยกเพื่อรับโครงสร้างหลังคาด้วย

สำหรับการต่อเติมหลังคา สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือโครงสร้างค่ะ เนื่องจากมีผลต่อแบบที่เราต้องการโดยตรง มีไว้รับน้ำหนักของวัสดุมุงหลังคา รวมถึงมีผลเรื่องของความลาดเอียงของหลังคาด้วย และการต่อเติมหลังคามักจะเห็นได้ชัดจากด้านหน้าบ้าน ทำให้เป็นเหมือนหน้าตาของบ้านเลยทีเดียวค่ะ โดยทั่วไปแล้วมักนิยมใช้โครงสร้างอยู่ไม่กี่ชนิดเท่านั้น เราไปดูกันเลยค่ะว่ามีโครงสร้างแบบไหนกันบ้าง